8 สาขาแพทย์เฉพาะทางน่าเรียน

          คณะแพทยศาสตร์ เป็นอีกหนึ่งคณะที่มีคนอยากเรียนสูงมาก แถมรายได้ยังสูงด้วย ใครที่สนใจคณะนี้ พี่ป๊อบมี 8 สาขาแพทย์เฉพาะทางมาแนะนำ ไปดูกันเลยว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง!

.

1. ศัลยแพทย์หัวใจ (Cardiac Surgeon)

            หรือบางครั้งจะเรียกว่า “ศัลยแพทย์หัวใจและหลอดเลือด” เรียนเกี่ยวกับความผิดปกติของหัวใจ วินิจฉัย และทำการรักษาโรคเกี่ยวกับ โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคหัวใจพิการแต่กำเนิด ภาวะหัวใจวาย และลิ้นหัวใจรั่ว เป็นต้น ด้วยความที่โรคหัวใจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตก่อนวัยอันเป็นอันต้นๆ ของโลกค่ะ ทำให้แพทย์ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับโรคหัวใจเป็นที่ต้องการมากขึ้นทุกวัน และมีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงมาเป็นอันต้นๆ ของบ้านเราเลย

.

2. ศัลยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ (Orthopedics)

            หรือเรียกให้ฟังง่ายก็คือ “แพทย์กระดูก” หรือ “หมอออร์โธฯ” เป็นสาขาเฉพาะทางที่จะต้องทำการวินิจฉัยและรักษาเกี่ยวกับพวกกระดูก ข้อ เส้นเอ็น และกล้ามเนื้อต่างๆ ในร่างกายที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือเหตุต่างๆ จนฉีกขาด เคล็ด เสื่อม ฯ ซึ่งศัลยแพทย์กระดูกมีความต้องการสูงมากขึ้นในทุกประเทศทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

.

3. ศัลยศาสตร์ตกแต่ง (Plastic Surgery)

            หรืออีกชื่อ “ศัลยแพทย์ตกแต่งและเสริมสร้าง” ซึ่งก็ฮอตมากๆ ในปัจจุบัน เพราะคนเดี๋ยวนี้ก็เริ่มกล้าทำศัลยกรรมกันมากยิ่งขึ้น ซึ่งแพทย์ด้านศัลยกรรมตกแต่งจะศึกษาในเรื่องความผิดปกติของรูปร่าง ผิวหนัง รวมทั้งระบบกล้ามเนื้อและโครงร่างของร่างกายด้วย

.

4. ศัลยแพทย์ทั่วไป (General Surgeon)

          หรือเรียกอีกชื่อง่ายๆ คือ “หมอผ่าตัด” ทำหน้าที่ในการผ่าตัดอวัยวะภายใน เช่น ไส้ติ่ง กระเพาะ ลำไส้ ถุงน้ำดี ม้าม รวมไปถึงการผ่าตัดเล็กต่างๆ ซึ่งต้องทำงานภายใต้ความกดดันและแข็งขันกับเวลา สาขานี้สามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีกหลายแขนงเลยค่ะ เช่น ประสาทศัลยแพทย์ (หมอผ่าสมอง), ศัลยแพทย์อุบัติเหตุ, กุมารศัลยศาสตร์ (หมอผ่าตัดเด็ก) และอื่นๆ อีกมากมาย

.

5. ศัลยแพทย์ช่องปาก (Oral and Maxillofacial Surgeons)

          สาขาที่เป็นส่วนหนึ่งของวิชาชีพทันตแพทย์ ลงลึกเฉพาะทางเกี่ยวกับการผ่าตัดเพื่อรักษาความผิดปกติของขากรรไกร ใบหน้า ปากแหว่งเพดานโหว่ ดูแลระบบบดเคี้ยวอาหารและการทำหน้าที่ของอวัยวะภายในช่องปาก ผ่าตัดฝังรากฟันเทียมต่างๆ ปลูกฟัน ผ่าตัดเนื้องอกในช่องปาก หรือแม้แต่การเตรียมความพร้อมก่อนใส่ฟันปลอม เป็นต้น

.

6. วิสัญญีแพทย์ (Anesthesiologist)

          หรือ “หมอดมยา” ทำหน้าที่วางยาสลบ ยาชา บล็อกไขสันหลัง ฯลฯ เพื่อดูแลผู้ป่วยให้เกิดความเจ็บปวดน้อยที่สุดและปลอดภัยมากที่สุดระหว่างผ่าตัดและหลังจากผ่าตัด ซึ่งต้องทำงานร่วมกับแพทย์ผ่าตัดค่ะ สาขานี้ต้องวิเคราะห์และทำการเลือกใช้ยาให้เหมาะสมกับเคสผ่าตัดและกายภาพของผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายถึงชีวิต

.

7. จิตเวชศาสตร์ (Psychiatrist)

          หรือที่เรียกกันว่า “จิตแพทย์” นั่นเอง เป็นเฉพาะทางด้านการแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับอาการบกพร่องทางจิตจากการทำงานของระบบประสาทของสมองมนุษย์ ง่ายๆ เลยคือเน้นรักษาโรคภายในจิตใจ และคาดว่าจะเป็นที่ต้องการมากในอนาคต เพราะตอนนี้คนมีเรื่องให้เครียดกันเยอะมากกกก บางคนซึมเศร้าจนฆ่าตัวตายก็เยอะ เรียกว่าเป็นสาขาแพทย์ที่ช่วยเหลือด้านจิตใจของคนเป็นหลัก

.

8. รังสีวิทยา (Radiology)

          หรือ “รังสีแพทย์” เรียนเกี่ยวกับการสร้างภาพสิ่งต่างๆ ของร่างกายเพื่อเอามาใช้ในการวินิจฉัยโรค โดยใช้เครื่องมือพิเศษต่างๆ ทางการแพทย์เข้ามาช่วย เช่น รังสีเอกซ์ (x-ray), รังสีแกมมา (Gamma ray) จากสารกัมมันตภาพรังสีคลื่นเสียง, คลื่นเสียงความถี่สูง (ultrasound) และคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (Nuclear Magnetic Resonance Imaging) เป็นต้น ยกตัวอย่างโรคที่ต้องใช้วิธีการรักษาด้วยการฉายรังสีก็คือโรคมะเร็งนั่นเองค่ะ

.

.

อ้างอิงข้อมูลและภาพจาก : hotcourses, Pinterest